ตรวจสอบข้อมูลสมาชิก
ตรวจสอบข้อมูลสมาชิก

หลักการสหกรณ์

หลักการสหกรณ์

Cooperative rule

หลักการสหกรณ์  คือ  “แนวทางที่สหกรณ์ยึดถือปฏิบัติเพื่อให้คุณค่าทางสหกรณ์เกิดผลเป็นรูปธรรม” ซึ่งประกอบด้วยการที่สำคัญรวม  7  ประการ  กล่าวคือ

หลักการที่  1  การเป็นสมาชิกโดยสมัครใจและเปิดกว้าง

(1)  พึงตระหนักว่าการเข้าและออกจากการเป็นสมาชิก จะต้องเป็นไปโดยความสมัครใจของบุคคล (คำว่า  “บุคคล”  หมายถึง  ทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล)  ไม่ใช้ถูกชักจูง  โน้มน้าว  ล่อลวง  บังคับ ข่มขู่จากผู้อื่น

(2)  อย่างไรก็ดี การกำหนดคุณสมบัติสมาชิกของสหกรณ์ต่างๆ เพื่อให้ได้บุคคลที่เข้ามาเป็นสมาชิกแล้วสามารถร่วมกันดำเนินกิจกรรมในสหกรณ์ได้ และไม่สร้างปัญหาความเดือดร้อนให้แก่เพื่อนสมาชิกและสหกรณ์ไม่ถือว่าขัดกับหลักการสหกรณ์ข้อนี้

(3)  สมาชิกสมทบนั้น ควรมีแต่เฉพาะกรณีของสหกรณ์บางประเภทที่มีลักษณะพิเศษและจำเป็นเท่านั้น ไม่ควรให้มีในสหกรณ์ทั่วไปหรือทุกประเภท เพราะตามปกติสมาชิกสมทบมาจากบุคคลซึ่งขาดคุณสมบัติที่จะเป็นสมาชิกธรรมดา หากสหกรณ์ใดรับสมาชิกสมทบจำนวนมาก ก็อาจกระทบต่อการส่งเสริมผลประโยชน์ของสมาชิกธรรมดาได้แม้ว่ากฎหมายจะได้ห้ามมิให้สมาชิกสมทบมีสิทธิบางประการก็ตาม

หลักการที่  2  การควบคุมโดยสมาชิกตามหลักประชาธิปไตย 

พึงตระหนักว่าเป็นหน้าที่ของสมาชิกทุกคนที่จะต้องร่วมแรงกายใจ และสติปัญญาในการดำเนินการและควบคุมดูแลการดำเนินงานของสหกรณ์ของสหกรณ์ตามวิถีทางประชาธิปไตย เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล โดยผ่านช่องทางหรือองค์กรต่างๆ เช่น คณะกรรมการดำเนินการ ผู้ตรวจสอบกิจการและที่ประชุมใหญ่

หลักการที่  3  การมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจของสมาชิก

(1)  หลักการสหกรณ์ข้อนี้  มุ่งเน้นให้สมาชิกทุกคนพึงตระหนักว่าบทบาทที่สำคัญของตนคือ การที่ต้องเป็นทั้งเจ้าของและลูกค้าในคนเดียวกัน                  (Co-owners and Customers)  จึงต้องทำหน้าที่เป็นผู้สมทบทุน ผู้ควบคุมและผู้อุดหนุน หรือผู้ใช้บริการของสหกรณ์ มิใช่มาเป็นสมาชิกเพียงเพื่อมุ่งหวังได้รับประโยชน์จากสหกรณ์เท่านั้น

(2)  ในการจัดสรรกำไรสุทธิเพื่อความเป็นธรรมแก่สมาชิก ส่วนหนึ่งต้องกันไว้เป็นทุนสำรอง ซึ่งจะนำไปแบ่งกันมิได้ แต่เป็นทุนเพื่อพัฒนาสหกรณ์ของพวกเขาเอง ถือว่าเป็นทุนทางสังคม  นอกนั้นอาจแบ่งเป็นเงินปันผลในอัตราจำกัด และเป็นเงินเฉลี่ยคืน ตามส่วนแห่งธุรกิจ

หลักการที่  4  การปกครองตนเองและความเป็นอิสระ

(1)  สมาชิก  กรรมการ  และพนักงานสหกรณ์  รวมทั้งหน่วยงานส่งเสริมสหกรณ์ต้องสำนึกและตระหนักอยู่เสมอว่าสหกรณ์เป็นองค์การช่วยตนเอง และปกครองตนเอง  เพราะฉะนั้นสหกรณ์ต้องเป็นอิสระในการตัดสินใจหรือทำสัญญาใด  ตามเงื่อนไขที่สหกรณ์ยอมรับได้กับบุคคลภายนอกหรือรัฐบาล

(2)  การรับความช่วยเหลือหรือสนับสนุนจากรัฐ  หรือบุคคลภายนอกไม่ขัดกับหลักความเป็นอิสระของสหกรณ์  หากผู้ให้ความช่วยเหลือมุ่งหมายให้สหกรณ์ช่วยเหลือตนเองได้  และควบคุมตามหลักประชาธิปไตย รวมทั้งธำรงไว้ซึ่งความเป็นตัวของตัวเองของสหกรณ์

หลักการที่  5  การศึกษา ฝึกอบรมและสารสนเทศ

(1)  หลักการข้อนี้เป็นจุดอ่อนของสหกรณ์ในประเทศไทยทุกระดับ ทั้งสหกรณ์ขั้นปฐม  และสหกรณ์ขั้นสูงเพราะขาดแผนแม่บทในการพัฒนาการศึกษาทางสหกรณ์ให้เป็นบทบาท และความรับผิดชอบของขบวนการสหกรณ์อย่างแท้จริงทั้ง ๆ  ที่ได้รับเริ่มให้จัดตั้งกองทุนสะสมจัดสหภาพสหกรณ์จากกำไรของสหกรณ์มาตั้งแต่ พ.ศ. 2492 และแม้จะมีการจัดตั้งสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย  และมีชุมนุมสหกรณ์ระดับชาติบ้างแล้วส่วนราชการที่ทำหน้าที่ส่งเสริมสหกรณ์ก็ยังคงดำเนินการให้การศึกษาและฝึกอบรมทางสหกรณ์แทบจะเรียกได้ว่าซ้ำซ้อนกับขบวนการสหกรณ์โดยไม่มีเป้าหมายที่ชัดเจนให้ขบวนการสหกรณ์สามารถรับผิดชอบการให้การศึกษาและฝึกอบรมทางสหกรณ์ได้ด้วยตนเองในที่สุดโดยมีหน่วยงานของรัฐทำหน้าที่ให้การสนับสนุนอย่างเพียงพอตามความจำเป็นและเน้นการฝึกอบรมข้าราชการให้ปฏิบัติหน้าที่  อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล

(2)  การศึกษาฝึกอบรมและสารสนเทศมีความมุ่งหมายและเน้นกลุ่มเป้าหมาย ดังนี้
          –  การศึกษามุ่งให้สมาชิกและบุคคลทั่งไปซึ่งถือว่าเป็นผู้ที่จะเป็นสมาชิกในอนาคตมีความรู้ และความเข้าใจเกี่ยวกับสหกรณ์ รวมทั้งมีความสำนึก และตระหนักในสิทธิและหน้าที่ของสมาชิก หรือให้เป็นผู้มีจิตวิญญาณสหกรณ์
          –  การฝึกอบรมมุ่งให้กรรมการ  ผู้จัดการ  และพนักงานสหกรณ์  มีความรู้  ความสามารถ  และทักษะรวมทั้งความรับผิดชอบในบทบาทหน้าที่ของตน
          –  ส่วนสารสนเทศนั้นมุ่งให้บุคคลทุกกลุ่ม โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับเยาวชนและผู้นำด้านความคิดเป็น เช่น  ผู้นำชุมนุม  นักหนังสือพิมพ์ นักเขียน  ผู้นำองค์กร  พัฒนาชุมชน ฯลฯ โดยเน้นการติดต่อสื่อสาร  2  ทาง

(3)  หลักสูตรและเนื้อหาของการศึกษาอบรมควรครอบคลุมทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม  การเมือง และวัฒนธรรม

หลักการที่  6  การร่วมมือระหว่างสหกรณ์

(1)  แท้จริงการร่วมมือระหว่างสหกรณ์เป็นหลักการเดียวกันกับการร่วมมือระหว่างบุคคลธรรมดาในการจัดตั้งสหกรณ์นั่นเอง  ซึ่งจะก่อให้เกิดการประหยัดด้วยขนาด  มีอำนาจการต่อรองสูงขึ้น  และนำไปสู่การรับใช้สมาชิกอย่างมีประสิทธิผลยิ่งขึ้น

(2)  การร่วมมือระหว่างสหกรณ์อาจทำได้ทั้งในแนวนอนและแนวตั้ง ในแนวนอนสหกรณ์ทุกสหกรณ์ไม่ว่าประเภทเดียวกันหรือไม่  สามารถร่วมมือกันได้ในทุกระดับเพื่อประโยชน์สูงสุดของสมาชิกและขบวนการสหกรณ์ในแนวตั้งสหกรณ์ท้องถิ่นประเภทเดียวกันควรรวมตัวกันทางธุรกิจเป็นชุมนุมสหกรณ์ระดับภูมิภาค หรือระดับประเทศ  และระดับระหว่างประเทศ  และสหกรณ์ทุกประเภท  ทุกระดับ  ทุกสหกรณ์ควรรวมตัวกันเป็นองค์การสหกรณ์สูงสุด   (Apex Organization) เพื่อประโยชน์ในการส่งเสริมด้านอุดมการณ์  การศึกษา   การฝึกอบรม  การส่งเสริมแนะนำ  การกำกับดูแล   การตรวจสอบ  การวิจัย  และการพัฒนา  ฯลฯ

(3)  วัตถุประสงค์สำคัญของการร่วมมือระหว่างสหกรณ์ คือ  เพื่อให้สหกรณ์สามารถอำนาจผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ  เพราะฉะนั้นสหกรณ์ท้องถิ่นแต่ละสหกรณ์  และสหกรณ์ขั้นสูงต้องเป็นสหกรณ์ที่มีความเข้มแข็งและยั่งยืน  มีชีวิตชีวา  (Viable & Sustainable)  และร่วมมือกันในลักษณะของ “ระบบรวม”  หรือเป็นเอกภาพ

หลักการที่  7  การเอื้ออาทรต่อชุมชน

(1)  สหกรณ์เป็นองค์การทางเศรษฐกิจและสังคม  และเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนที่สหกรณ์ตั้งอยู่เพราะฉะนั้นการดำเนินงานของสหกรณ์ต้องเป็นไปเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของชุมชนนั้น ๆ  ซึ่งหมายความว่าเป็นการพัฒนา ที่ไม่ทำลายทรัพยากรธรรมชาติ  สิ่งแวดล้อม  และระบบนิเวศ  หรือเป็นการพัฒนาที่สนองความต้องการและความใฝ่ฝันของคนรุ่นปัจจุบัน  โดยไม่ทำลายโอกาส  ความสามารถ  และอนาคตของคนรุ่นหลัง

(2)  เนื่องจากสมาชิกสหกรณ์ก็เป็นสมาชิกของชุมชนนั้นเอง สหกรณ์จึงควรมีส่วนช่วยเหลือในการพัฒนาชุมชนนั้นแบบยั่งยืน